ปลูกป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง

การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการจัดรูปแบบการปลูกให้เกิดคุณค่าและบูรณาการในพื้นที่ทำกินเดิมให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ได้แก่ 1. ไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา , ไผ่ 2. ไม้กินได้ เช่น มะม่วง ผักกินใบต่างๆ และ 3. ไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้ที่ปลูกเพื่อจำหน่าย เช่น ไม้สัก เป็นต้น ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1. พอกิน คือ การปลูกต้นไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร 2.พอใช้ คือการปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้ สำหรับทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน 3. พออยู่ คือการปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้กลุ่มนี้เป็นไม้อายุยืนเพื่อใช้สร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน และ 4. พอร่มเย็น คือ เมื่อเราปลูกป่า จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยผู้เข้าอบรมจะแบ่งกลุ่มลงพื้นที่แปลงเพาะปลูก เพื่อปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆตามหลักของการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามที่อบรมมา

ทฤษฎีโคก หนอง นา เป็นโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” คือ โคก: พื้นที่สูง ปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ / ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย / ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ   2. หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม และ 3. นา: พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

 

โดยผู้เข้าอบรมจะได้ศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีโคก หนอง นา ซึ่งเป็นการผสมผสานของเกษตรทฤษฏีใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ